
(ปรับปรุง ปี พ.ศ. 2565)
ส่วนที่ 1 : ต้นบอนสี
ต้นบอนสี หรือภาพถ่ายต้นบอนสี (กรณีจดออนไลน์)
1.ต้นแม่ ต้องเป็นต้นที่โตเต็มวัย มีรูปทรงต้นให้เห็นควรมีใบอย่างน้อย 5 ใบขึ้นไป (อายุตั้งแต่ 6-8 เดือนขึ้นไป)
2.ต้นลูก เป็นต้นที่ได้มาจากการผ่าหัวหรือแคะหน่อมาเลี้ยงจนโตเต็มวัย (อายุตั้งแต่ 6-8 เดือนขึ้นไปเช่นกัน ) จำนวน 2 ต้นเป็นอย่างต่ำ เพื่อแสดงให้เห็นความนิ่ง(เสถียร) ของไม้แล้ว และยิ่งเป็นไม้กัดสี หรือไม้ด่าง ควรจะเลี้ยงให้โตเต็มวัย เพื่อการระบุอัตลักษณ์ได้อย่างชัดเจน
3.มีต้นจริง หรือภาพถ่ายเป็นหลักฐานมาแสดงว่ามีอย่างน้อย 3 ต้น (ต้นแม่และต้นลูกเต็มวัย อีก 2 ต้น) และต้นที่แสดงต้องโตจนเห็นว่ามีลักษณะเหมือนต้นที่จะมาจดทะเบียนแน่นอนแล้ว
4.มีต้นลูกขนาดเล็ก หรือภาพถ่าย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการประกอบ ในกรณีอ้างอิง หรือลดข้อขัดแย้งในการจำหน่าย หรือส่งต่อ (ถ้ามี)
5.การระบุสีควรศึกษาวิธีการบรรยาย ตามแนวทางของไทยโทนร่วมด้วย เพื่อความชัดเจน อ้างอิงได้ (สามารถเข้าไปดูตารางสีได้ในเว็บไซต์สมาคม)
ส่วนที่ 2 : ชื่อ
ผู้ขอจดทะเบียนต้องหาชื่อและตรวจสอบชื่อมาเองพอสมควรก่อนนำมาขอจดทะเบียนตั้งชื่อ
ทั้งนี้ควรศึกษาขนบธรรมเนียมการตั้งชื่อบอนสีมาพอสมควร เช่น ชื่อตับไก่ ต้องเป็นใบไทย กัดสี ตับรามเกียรติ์ มักเป็นใบยาวขนาดใบใหญ่ , ชื่อยักษ์ ควรเป็นไม้ใบยาว ต้นใหญ่ แข็งแรง โดยต้องสอดคล้องกับสีสัน และแนวทางสุนทรียศาสตร์ร่วมด้วย หรืออ้างอิงลักษณะที่เหมาะสม เช่น สีชมพู แสดงถึง สตรีเพศ หรือ พระราม ควรจะมีใบสีเขียว ตามลักษณะที่ระบุในวรรณคดี หรือหัวโขน และเครื่องทรง เป็นต้น กรณีใช้ชื่อในตับต่างๆ แต่รูปใบขัดแย้งอย่างชัดเจน เช่น ในตับเดิมเป็นใบยาว แต่ใช้ไม้ใบกลมมาจด และชื่อชัดเจนในตับเดิม ควรพิจารณาด้วยตนเองและหลีกเลี่ยง เพราะนายทะเบียนจะไม่รับจดให้ด้วยจรรยาบรรณและการเคารพขนบโบราณ
*บอนสี เป็นไม้ประดับที่มีใบสวยงาม การตั้งชื่อควรเหมาะสมกับลักษณะ ของต้นด้วย นายทะเบียนมีสิทธิ์ไม่รับจดทะเบียนได้ หากพิจารณาแล้วให้ข้อแนะนำพร้อมให้เจ้าของไม้ยืนยันจะใช้ชื่อนั้นอีก
**หากไม่ทราบความซ้ำซ้อนของชื่อ ทางนายทะเบียนจะตรวจสอบ และแจ้งแนวทางที่เหมาะสมแก่ผู้ขอจดทะเบียน และขอสงวนสิทธิ์ในการตั้งชื่อใกล้เคียงกับชื่อที่มีอยู่แล้วในนามานุกรม เพื่อลดความสับสนในสังคม เช่น ชื่อเฉพาะ เปลี่ยนคำนำหน้า หรือ มีการเปลี่ยนคำที่มีลักษณะจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ อย่างไม่มีนัยยะสำคัญ เช่น วนสวาท กับ วนาสวาท ไม่ควรตั้ง ปู่เจ้าสมิงพราย กับ ปู่ท้าวสมิงพราย ซึ่งมีความใกล้เคียง พ้องเสียง พ้องรูปก็ดี มิควรตั้งให้สับสน เป็นต้น
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
1.ควรตั้งชื่อในตับที่มีอยู่เดิม แต่ยังไม่มีชื่อนี้มาก่อน เช่น ตับขุนช้างขุนแผน มี ขุนช้าง , ขุนแผนแล้วสามารถ หาชื่อตัวละครอื่นๆ ได้ ทั้งนี้บอนสีที่นำมาตั้ง ควรมีลักษณะที่ดีพอ และตรงตามลักษณะที่ระบุไว้ตามขนบ
2.ชื่อตับเบ็ดเตล็ด ควรตั้งชื่อให้เหมาะกับลักษณะต้นได้ เช่น กระบี่ไร้เทียมทาน ควรเป็นใบไผ่ หรือใบหอก หากเป็นใบไทย ควรจะใช้ชื่ออื่น
3.ชื่อต้องไม่ซ้ำกับชื่อบอนที่มีมาก่อนปี พ.ศ.2525 (ก่อนปีสมาคมฯ รับจดทะเบียนบอนสี) และไม่ซ้ำกับชื่อที่มีในบัญชี การจดทะเบียนของสมาคมฯ มาก่อน (ท่านอาจไม่ทราบนายทะเบียนจะต้องตรวจสอบก่อนอนุมัติให้จดทะเบียนตั้งชื่อได้) ส่วนชื่อที่ตั้งขึ้นแต่ไม่ได้จดทะเบียนกับสมาคมฯ สมาคมฯ จะขอสงวนสิทธิ์ในการไม่เก็บไว้ในนามานุกรมบอนสีของสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย
4.ชื่อต้องไม่หยาบคาย หยาบโลน ส่อเสียด สองแง่สองง่าม หรือกระทบชื่อเสียงของบุคคล หรือสถาบันใดๆ ไม่ควรใช้ชื่อเฉพาะของบุคคล หรือหากต้องการใช้ จะต้องได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการ เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
5.ขนบธรรมเนียมโบราณ คิดว่าบอนสีเป็น “ของเล่น” จึงไม่ควรเอาชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่สักการะของทางศาสนา ความเชื่อต่าง ๆ หรือเป็นรูปเคารพ อาทิ ชื่อองค์เทพ หรือ ชื่อที่สูงเกินไป หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตั้งชื่อบอนสี
6.ชื่อของดารา บุคคลสำคัญ บุคคลที่มีชื่อเสียง ชื่อแบรนด์ ตัวละครที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ตัวละครที่เป็นที่นิยมในภาพยนตร์ หรือ เป็นมาสคอทสินค้า อาจถูกเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ได้ ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยง
7.ชื่อไม่ควรยาวเกิน 6 พยางค์ และควรสะกดให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทยและภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องการจด
8.ชื่อบางชื่อที่ก่อให้เกิดความสับสน เช่น นก ไก่ หรือชื่อทับซ้อนในตับที่มีอยู่เดิม ก่อนนำมาใช้ ควรจะต้องศึกษาขนบของตับนั้นๆ ก่อน และไม่ก่อให้เกิดความสับสนในวงกว้าง โดยนายทะเบียนขอสงวนสิทธิ์ในการไม่รับจดทะเบียนตั้งชื่อ ในกรณีที่จะสร้างปัญหาให้กับสังคมในวงกว้าง
9.ในกรณีที่บอนมีชื่ออยู่แล้ว ก่อนการก่อตั้งสมาคม(พ.ศ.๒๕๒๕) ถ้ามีต้นที่เหมือนในตำรา แสดงว่าไม่สูญ ไม่จำเป็นต้องจดใหม่ แต่ในกรณีที่ต้องการนำชื่อเก่ามานำบอนสีที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือคล้ายคลึง ทางสมาคมขอความกรุณาในการหลีกเลี่ยง หรือไม่ใช้ชื่อซ้ำ เพราะเป็นการให้เกียรติบุรพาจารย์และท่านที่ตั้งชื่อมาแต่ก่อน
ส่วนที่ 3 : ประวัติของการผสมเกสร
1.ควรต้องรู้ชื่อ แม่ไม้ และ พ่อไม้ จะเป็นข้อมูลเชิงสถิติให้อนุชนได้และสามารถสืบค้นหาสายพันธุ์ได้
2.การให้เกียรติ ผู้ผสม ผู้ตั้งชื่อ เป็นวัฒนธรรมของผู้เล่นบอนสี หากซื้อลูกไม้มาผู้จดไม่ทราบที่มาสมาคมฯ ก็จดทะเบียนให้ได้เพื่อประโยชน์ในการเรียกชื่อ แม่ไม้ พ่อไม้ต่อไป
3.สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทยไม่มีเจ้าหน้าที่ที่จะสืบสวนที่มาของไม้ที่มาขอจดทะเบียน ว่ามาจากไหนใครผสมจริงหรือไม่ รวมไปถึงไม่มีขอบเขตหน้าที่ในการตรวจสอบการจดชื่อกับองค์กรอื่นๆ เราเชื่อในเกียรติของกันและกัน เมื่อจดทะเบียนแล้วจะถอนชื่อออกมิได้ (ยกเว้นกรณีชื่อซ้ำกับชื่อที่จดไว้เดิมเพราะนายทะเบียนไม่ทราบ ขอให้เปลี่ยนชื่อได้) เพราะใบเสร็จที่เขียนแล้วต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี ส่งกระทรวงมหาดไทยทุกสิ้นปี
***ข้อควรทราบและโปรดระวัง
ทางสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย และนายทะเบียนทุกท่าน ไม่มีนโยบายในการเดินทางไปรับจด ณ สถานที่ใด รังบอนสี หรือสวนใดๆ นอกจากการนัดจดทะเบียนในสถานที่ที่นายทะเบียนของสมาคมระบุ ตลอดจนหากมีบอนสีเพียงต้นเดียวและไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น ไม่สามารถขอจดทะเบียนตั้งชื่อได้ ซึ่งขณะนี้มีระบบออนไลน์ เฉพาะเว็บไซต์ : สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย . com เท่านั้น!
หากนอกเหนือจากนี้ ถือเป็นการแอบอ้าง และโปรดพิจารณา
(นายเสริม พงศ์ทอง)
นายทะเบียนสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย
ปรับปรุง ปี พ.ศ. 2565